วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552


ข้อมูลในบล็อกนี้ ผู้เขียนได้อ้างอิงข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆ ในเว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้จากนักวิชาการหลายๆ ท่าน รวบรวมไว้ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา กับสาระและขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบันตามกรอบแนวคิดต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนได้อ้างอิงไว้ท้ายเนื้อหา ซึ่งผู้สนใจที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้จากแหล่งอ้างอิงนั้นๆ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป
สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข


การศึกษาค้นคว้าในประเด็นหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจาก การศึกษาความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและขอบข่ายของสาระทางเทคโนโลยีการศึกษา ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสาระของเทคโนโลยีการศึกษา เรื่อยมาจนถึงหัวข้อในปัจจุบันปัญหาและประเด็นหัวข้อตามความสนใจทางเทคโนโลยีการศึกษากับสาระและขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบันตามกรอบแนวคิดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละหัวข้อเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องศึกษาถึงรากลึกในหัวข้อนั้น ๆ เพื่อนำมาเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาประเด็นต่อ ๆ ไป สำหรับประเด็นความสนใจในการศึกษาค้นคว้าฉบับนี้คณะผู้ศึกษาค้นคว้าได้รวบรวมและเรียบเรียงเป็นประเด็นตามลำดับดังนี้

1. ICT
2. e-learning
3. Online Education
4. Distance Education
5. Flexible Learning System
6. Home School
7. Knowledge Management
ปัจจุบันเรื่องการนำ ICT ไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในวงการศึกษา ทั้งนี้เนื่องจาก ICT เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพสูง กว่าเครื่องมือการสอนอื่น ๆ เราสามารถใช้ ICT เพื่อปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ ของผู้เรียนได้

คำว่า “ ICT” ย่อมาจาก Information and Communication Technologies หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมายถึง การรวมตัวกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และเทคโนโลยีการสื่อสาร (CT) เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลข่าวสารมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบ หรือหมวดหมู่ เพื่อให้ทุกคนที่สนใจเข้าถึงข้อมูล และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามกรอบแนวความคิดทั้ง 6 ประการ ดังกล่าว จัดเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่สำคัญในสาระขอบข่ายเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกัน และมีรายละเอียดดังนี้
นโยบายของรัฐบาล นโยบายการเร่งใช้ ICT (Information and Communication Technology) เพื่อพัฒนาการศึกษาในทุกด้านโดยเฉพาะการช่วยพัฒนา ครู อาจารย์ นักศึกษาได้เข้าถึงแหล่งความรู้และได้เรียนอย่างทัดเทียมกัน การพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ฉับไว มีประสิทธิภาพสูงสุด การจัดเครื่องมืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และการเชื่อมโยงเครือข่าย จึงเป็นนโยบายสำคัญของระบบบริหารจัดการด้าน ICT ในการบริหารและบริการทางด้าน ICT มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีข้อมูลทะเบียนนักเรียน มีการเชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูล ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีระบบบริหารงานบุคคล ระบบงานสารบรรณ ระบบห้องสมุด ซึ่งจะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อการค้นคว้าที่กว้างขวางขึ้น การออกแบบและผลิตสื่อ มุ่งส่งเสริมพัฒนาครู อาจารย์ ให้สามารถออกแบบและผลิตสื่อด้าน ICT เพื่อช่วยให้การสอนมีความน่าสนใจ สนุกสนาน ค้นคว้าต่อยอด ความรู้ประสบการณ์จากที่มีอยู่เดิม ทฤษฎีการเรียนรู้ (Constructionism) มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง กับเครือข่ายการเรียนรู้โดยนำกระบวนการเรียนรู้ มาจัดการให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเรียนรู้ในอดีต มาเป็นการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต
ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ การเตรียมผู้เรียนให้พร้อมต่อการใช้เทคโนโลยีฯ เพื่อเป็นการใช้เทคนิคต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของเทคโนโลยี

การประเมินผลการเรียนรู้

เป็นเรื่องสำคัญขององค์ประกอบดังกล่าว เนื่องจากเป็นการจะทำให้ทราบแนวทางในการพิจารณาเลือกตัดสินใจดำเนินงาน โดยประเมินจากผลงานหรือตามสภาพความเป็นจริงจากกระบวนการเรียนรู้
******จากกรอบแนวความคิดดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสาระเทคโนโลยีการศึกษาในด้าน ICT ไปบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้ทำให้ได้พบว่ากรอบแนวคิดในอดีตนั้นบางอย่างไม่ทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสำคัญต่าง ๆ ของรัฐบาลมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการกระจายโอกาสการศึกษา เช่น ระเบียบการบริหารงาน งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างและพัฒนาซอฟต์แวร์ การดำเนินงานด้านระบบเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อขอบข่ายสาระเทคโนโลยีการศึกษาตามกรอบแนวความคิดที่ได้นำเสนอ ดังกล่าว
e-Learning ในประเทศไทย

ประเทศไทยได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอน การถ่ายทอดความรู้เป็นระยะเวลานานพอสมควรโดยอาจจะนับได้ว่าจุดเริ่มต้นตั้งแต่การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ จากนั้นก้มีการสร้างสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่แทนที่เอกสารหนังสือที่เรียกว่า สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI (Computer Aided Instruction) ซึ่งมีซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือให้เลือกใช้งานได้หลากหลายทั้งที่ทำงานระบบปฎิบัติการดอส เช่นโปรแกรมจุฬาซีเอไอ(Chula CAI) ที่พัฒนาโดยแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โปรแกรมไทยทัศน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รวมถึงซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ เช่น Show Partner F/X ToolBook Macromedia Authorware

ในปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้พัฒนาอย่ารวดเร็วและได้ก้าวมาเป็นเครื่อมือชิ้นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ โดยพัฒนา CAI เดิมๆให้เป็น WBI(Web Based Instruction) หรือการเรียนการสอนผ่านบริการเว็บเพจ ส่งผลให้ข้อมูลในรูปแบบ WBI สามารถเผยแพร่ได้รวดเร็วและกว้างไกลกว่าสื่อ CAI ปกติ ทั้งนี้มาจากประเด็นสำคัญอีก 2 ประการ

......· ประเด็นแรกได้แก่ สามารถประหยัดเงินที่ต้องลงทุนในการจัดหาซอฟต์แวร์สร้างสื่อ(Authoring Tools) ไม่จำเป็นต้องซื้อโปรแกรมราคาแพงๆมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนการสอนเพราะสามารถใช้ NotePad ที่มาพร้อมกับวินโดวส์ทุกรุ่น หรือ Text Editor ใดๆก็ได้ลงรหัส HTML(Hyper Text Markup Language) สร้างเอกสาร HTML ที่มีลักษณะการถ่ายทอดความรู้ด้านการศึกษา
.....· ประเด็นที่สองเนื่องจากคุณสมบัติของเอกสาร HTML ที่สามารถนำเสนอข้อมูลได้ทั้งข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ และสามารถสร้างจุดเชื่อมโยงไปตำแหน่งต่างๆได้ตามความต้องการของผู้พัฒนาส่งผลให้การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ WBI เป็นที่นิยมอย่างสูงและได้รับการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบ e-Learning(Electronics Learning) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน

ที่มา : Click2Learn.com

หนังสืออ้างอิง :
กองบรรณาธิการ. 2544. บทบาทการเรียนการสอน e-Learning ในประเทศไทย สาร NECTEC
ปีที่ 8 ฉบับที่ 39 มีนาคม-เมษายน 2544 หน้า 6-9.
บุญเลิศ อรุณพิบูลย์. 2547. e-Learning ในประเทศไทย สาร NECTEC ปีที่ 11 ฉบับที่ 56 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2547 หน้า 32-36.

http://www.thaicai.com/elearning.html accessed on July 9, 2004.
http://pirun.ku.ac.th/ accessed on Aug 7, 2009.

ความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรม คำว่า เทคโนโลยี มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
ชาร์ลส์ เอฟ. โฮบาน (Charles F. Hoban 1965 : 124) ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีว่า มิใช่คน หรือเครื่องจักร แต่เป็นการจัดระเบียบอันมีบูรณาการและความสลับซับซ้อนของความคิด
คาร์เตอร์ วี กู๊ด (Carter V. Good 1973 : 592) ได้ให้ความหมายของคำว่าเทคโนโลยีในพจนานุกรมการศึกษาว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ในวงการศึกษาต่าง ๆ หรือมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
เอคการ์ เดล (Edgar Dale 1957 : 610) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ในหนังสือ Audio - Visual Method in Teaching ว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือแต่เป็นแผนการวิธีการทำงานอย่างมีระบบ
ก่อศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ (2517 : 83) กล่าวว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ในวงการศึกษาต่าง ๆ หรือมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ
ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2520 : 35) ได้เขียนไว้ในหนังสือมิติที่ 3 ว่า ตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษเทคโนโลยี หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการ ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดระบบงานด้วยองค์ 3 คือ
1. ข้อมูลที่ใส่เข้าไป ได้แก่ การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
2. กระบวนการ ได้แก่ การลงมือแก้ปัญหา แจกแจงวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
3. ผลลัพธ์ คือ ผลที่ได้จากการแก้ปัญหาและทำการประเมินผล

ความหมายเทคโนโลยีทางการศึกษา
Techno มาจากภาษากรีกว่า Technologia หมายถึง ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือทักษะ (art science or skill) และมาจากภาษาลาตินว่า Texere หมายถึงการสานหรือการสร้าง (กิดานันท์ มลิทอง, 2540) โดยมีผู้นักวิชาการให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ไว้แตกต่างกันหลายมิติ ดังนี้

Good C. (1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดนเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ

Gane and Briggs (1974) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา พัฒนาจากการออกแบบการเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมศาสตร์ ทฤษฎีการเรียนรู้ เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ และความสนใจในเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

AECT (1977) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เป็นกระบวนการบูรณาการที่เกี่ยวกับมนุษย์ วิธีดำเนินการ แนวคิด เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อการวิเคราะห์ปัญหา การคิดวิธีการนำไปใช้ การประเมินและการจัดแนวทางการแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทั้งมวลของมนุษย์

กิดานันท์ มลิทอง (2540) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาแนวคิด เทคนิค วิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ การจัดระบบสารสนเทศ และสิ่งต่าง ๆ มาใช้ในการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2545) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือการศึกษา เป็นเรื่องของระบบในการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน

จากพจนานุกรมศัพท์ทางการศึกษาได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและประสานสัมพันธ์อย่างมีบูรณาการ ระหว่างบุคคล วิธีการ เครื่องมือ และการจัดระบบองค์การสำหรับวิเคราะห์ปัญหา วิธีแก้ปัญหา ดำเนินการประเมินผล และการจัดการแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกลักษณะของการเรียนรู้
(สุวิทย์ และคณะ, 2540) Heinic, Molenda and Russel (2000) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฎิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนการสอน อีกนัยหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ทั้งด้านยุทธวิธี และด้านเทคนิค) เพื่อแก้ปัญหาทางการสอน เป็นความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยออกแบบ ดำเนินการและการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร

..........จากความหมายต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุ อุปกรณ์ และศาสตร์ทางการศึกษา มาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาทางการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน โดยแต่ละส่วนของกระบวนการมีความเป็นบูรณาการไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกัน ทำให้นิยามของเทคโนโลยีทางการศึกษามีจุดเริ่มต้นจาก สอง แนวความคิด ดังนี้

(ชัยยงค์, 2545 : 12-13) แนวคิดที่ 1 เน้นสื่อ (สื่อ+อุปกรณ์) เป็นแนวคิดที่นำผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ที่มีทั้งวัสดุสิ้นเปลือง (Software) และอุปกรณ์ที่คงทนถาวร

(Hardware) แนวคิดนี้เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการฟังด้วยหู และชมด้วยตา สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเน้นสื่อถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของครู นักเรียนซึ่งถือได้ว่าเป็นตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science Concept) ตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้น อาทิเช่น เครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ เครื่องรับโทรทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ และรายการอื่นๆ ที่อยู่ในรูปของอุปกรณ์ (Hardware) และวัสดุ (Software)
.........แนวคิดที่ 2 เน้นวิธีการ (สื่อ+อุปกรณ์ + วิธีการ) เป็นแนวคิดที่ประยุกต์หลักการทางจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษย์วิทยา และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ เน้นวิธีการจัดระบบ (System Approach) ที่ใช้ในการออกแบบ การวางแผน ดำเนินการตามแผน และประเมินกระบวนการทั้งหมดของการเรียนการสอน ภายใต้วัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยการใช้ผลการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ การสื่อสาร เป็นพื้นฐานการดำเนินงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นตามแนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science)
จากแนวความคิดดังกล่าวข้างต้น เทคโนโลยีการศึกษา ตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science Concept) นั้น เป็นแนวคิดที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจ เพราะเน้นสื่อสิ่งของ แต่แนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับวิธีระบบ เป็นแนวคิดที่คนยังเข้าใจน้อย เพราะเน้นสื่อประเภทวิธีการ หรืออาจกล่าวโดยสรุป คือ เทคโนโลยีการศึกษา ตามแนวทางแรกนั้นเป็นเทคโนโลยีเครื่องมือ และแนวคิดอย่างหลังนั้นเป็นเทคโนโลยีระบบ
แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการศึกษา ยังมีภาพลักษณ์ของโสตทัศนศึกษา (Audio Visual Education) อยู่มาก เป็นผลทำให้เทคโนโลยีการศึกษามีภาพที่บุคคลทั่วไปมองและเข้าใจว่า ธรรมชาติของเทคโนโลยีการศึกษา เน้นหนักเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ ตลอดจนการนำผลผลิตทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา นับได้ว่าการที่บุคคลจำนวนมากมีความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะธรรมชาติของเทคโนโลยีการศึกษา อีกมิติหนึ่งคือ เทคโนโลยีระบบที่เน้นเกี่ยวกับการจัดการ การออกแบบ การวางแผน การดำเนินการตามแผนและการประเมิน ซึ่งเป็นการนำวิธีระบบมาใช้เพื่อแก้ปัญหา หรือจัดสภาพการณ์ทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย

พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสหวิทยาการที่รวมเอาศาสตร์ต่าง ๆ มาประกอบกัน ได้แก่ พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences) วิทยาการจัดการ (Management Science) และวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) จากศาสตร์ดังกล่าวจึงเกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา โดยมีพัฒนาการจำแนกได้ดังนี้
เทคโนโลยีการศึกษาสื่อสาร ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงปลาย ทศวรรษที่ 1960 เมื่อโลกได้หันเข้ามาสู่ยุคของคอมพิวเตอร์ ในด้านการศึกษานั้น ได้มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในปี 1977 ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัท APPLE ได้ประดิษฐ์เครื่อง APPLE II ขึ้น โดยการใช้ในระยะแรกนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริหารจัดการ ต่อมาได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ใช้ได้ง่ายและสามารถช่วยในการเรียนการสอนได้มากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงเป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนคุ้นเคย และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้

.........ยุคของมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้เริ่มขึ้นในปี 1987 เมื่อบริษัท APPLE ได้เผยแพร่โปรแกรมมัลติมีเดียครั้งแรกออกมา คือโปรแกรม HyperCard แม้ว่าโปรแกรมนี้จะต้องใช้เครื่องที่มีกำลังสูง ต้องใช้เวลาในการฝึกหัดมาก แต่ผลที่ได้รับก็น่าประทับใจ การพัฒนามัลติมีเดียเพื่อการศึกษาได้มีการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโปรแกรม Hyper Studio มาใช้ และได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ โรงเรียน อย่างไรก็ตามเพียงภายในสองปี มัลติมีเดียเพื่อการศึกษาก็ถูกแทนที่โดยสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากกว่า นั่นก็คือ อินเทอร์เน็ต Internet) นั่นเอง

..........ปัจจุบันนี้ อินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากผลการสำรวจปี 2545 คนอเมริกันใช้คอมพิวเตอร์ถึง174 ล้านคน (หรือร้อยละ 66 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) และมีการใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 143 ล้านคน (หรือร้อยละ 54 ของประชากร) ส่วนในประเทศไทยนั้นผลสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเมืองใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 พบว่ามีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ส่วนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีประมาณ 10 ล้านคน ( ร้อยละ 16.6 ของประชากร)
..........นอกจากนั้น ยังมีการสรุปด้วยว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกลงและมีอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มากขึ้น การพัฒนาอันน่ามหัศจรรย์ใจของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นเครือข่ายแห่งเครือข่ายทำให้มีการเชื่อมโยงกันได้อย่างเสรีไม่มีการปิดกั้น ดังนั้นคนทุกคนจึงสามารถเผยแพร่ข้อมูลของตนบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย พอ ๆ กับการที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทั่วโลก และจากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อินเทอร์เน็ตจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพราะนักเรียนและครูสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อีเมล์ การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านระบบ Bulletin Board และ Discussion Groups ต่าง ๆ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ ทันสมัยยิ่งขึ้นในการโทรศัพท์หรือประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตจึงเพิ่มบทบาทสำคัญในการศึกษารูปแบบใหม่และยังช่วยเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้แนะนำ” พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนให้เด็กสามารถเรียนและค้นคว้าด้วยตนเองอีกด้วย

..........เทคโนโลยีการศึกษา เริ่มต้นใช้คำว่า โสตทัศนศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งการนำสื่อโสตทัศน์ และวิธีการเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน มีการนำทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีทางจิตวิทยาเข้ามา มีส่วนทำให้เกิดการสอนแบบต่าง ๆ มีการออกแบบระบบการเรียนการสอน และความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์มัลติมีเดียและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสอนเป็นกลุ่ม การสอนมวลชน การสอนทางไกล และการศึกษาตลอดชีวิต รวมทั้งแนวคิดการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง Teacher Center Child Center หรือ Media Center รวมทั้งการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ การสอนผ่านเครือข่าย จะเห็นได้ว่าศาสตร์ของเทคโนโลยีการศึกษา มีพัฒนาการมาเป็นลำดับขั้น และประยุกต์ใช้เพื่อทำให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

..........เทคโนโลยีการศึกษาจึงถือเป็นเครื่องมือการศึกษา ที่มุ่งจัดระบบทางการศึกษาด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่มองภาพแบบองค์รวมลักษณะของการดำเนินการแก้ปัญหา จะมุ่งวิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งหมด จากนั้นจึงเป็นการจัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยขึ้นมาใหม่ ให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน โดยยึดถือหลักว่าให้แต่ละส่วนประกอบย่อยทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้น เทคโนโลยีการศึกษา มองภาพระบบทางการศึกษาเป็นระบบใหญ่ที่ประกอบขึ้นด้วยระบบย่อย อีกหลายระบบด้วยกัน

..........สำหรับความเป็นมาของการเกิดแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา หากมองตามการเกิดขึ้นของแนวคิดกับการปฏิบัติจริงขององค์ความรู้ในแต่ละอย่าง ก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
......1. เกิดแนวคิดก่อนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ความรู้ประเภทนี้มักเป็นเรื่องที่เป็นการศึกษา ค้นคว้าทดลองจากแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีคิดขึ้นเองหรือมีผู้คิดไว้ก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถนำความคิดไปทดลองใช้ได้อย่างจริงจัง เช่น การค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการส่งสัญญาณวิทยุ ต่อมาจึงมีผู้นำแนวความคิดไปทดลองจนประสบความสำเร็จ
......2. เกิดจากการปฏิบัติหรือการกระทำที่เป็นอยู่ แล้วนำไปสู่การสรุปเป็นแนวคิดหรือทฤษฎี ความรู้ประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติหรือตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การเกิดลมพัด น้ำขึ้นน้ำลง แรงโน้มถ่วง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องของธรรมชาติ แต่นักคิดก็จะพยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปเหล่านั้น แล้วนำมาสรุปเป็นแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต หรือสังเคราะห์ให้เกิดแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความเป็นไปต่าง ๆ
......ความเป็นมาของแนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษา ในระยะแรก ๆ จึงเป็นลักษณะของการกระทำที่เป็นอยู่แล้ว หรือเป็นไปตามสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไป เช่น การใช้รูปภาพ หรือ สื่อ อย่างง่าย ๆ มาประกอบการสอนหรือการบรรยาย โดยไม่ได้คิดถึงหลักการหรือทฤษฎีใด ๆ เพียงแต่คิดตามความความเข้าใจว่าย่อมทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ดีกว่าการสอนโดย ไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ส่วนแนวความคิดในยุคหลัง ๆ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เป็นการพยายามนำเอาแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพราะแนวคิดหรือหลักการทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมักได้รับการพิสูจน์ หรือผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้ว

..........ดังนั้น "เทคโนโลยี" หมายถึง การนำเอาขบวนการ วิธีการ และแนวความคิดใหม่ๆ มาใช้หรือประยุกต์ใช้อย่างมีระบบ เพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายตัวทางวิทยาการทำให้เทคโนโลยี ถูกนำมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ เช่น
- เทคโนโลยีทางการทหาร (Military Technology)
- เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical Technology)
- เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agricultural Technology)
- เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology)
- เทคโนโลยีทางการค้า (Commercial Technology)
- เทคโนโลยีทางวิศวกรรม (Engineering Technology)
- เทคโนโลยีทางการตลาดสังคม (Social Marketing Technology)
- เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology)

..........ความหมายของนวัตกรรม “นวัตกรรม” หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย “นวัตกรรม” (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ ”การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม”
.........แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก

..........นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฎิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com) คำว่า “นวัตกรรม” เป็นคำที่ค่อนข้างจะใหม่ในวงการศึกษาของไทย คำนี้ เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation มาจากคำกริยาว่า innovate แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ในภาษาไทยเดิมใช้คำว่า “นวกรรม” ต่อมาพบว่าคำนี้มีความหมายคลาดเคลื่อน จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า นวัตกรรม (อ่านว่า นะ วัด ตะ กำ) หมายถึงการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าวงการหรือกิจการใด ๆ ก็ตาม เมื่อมีการนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม ของวงการนั้น ๆ เช่นในวงการศึกษานำเอามาใช้ ก็เรียกว่า “นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation) สำหรับผู้ที่กระทำ หรือนำความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มาใช้นี้ เรียกว่าเป็น “นวัตกร” (Innovator) (boonpan edt01.htm)

..........ทอมัส ฮิวช์ (Thomas Hughes) ได้ให้ความหมายของ “นวัตกรรม” ว่า เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว เริ่มตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของ โครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา (boonpan edt01.htm) มอร์ตัน (Morton,J.A.) ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ว่าเป็นการทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง(Renewal) ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงสิ่งเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงาน หรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรม ไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการ ปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนา (boonpan edt01.htm)

ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 14) ได้ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ไว้ว่าหมายถึง วิธีการปฎิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการทดลอง พัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฎิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

จรูญ วงศ์สายัณห์ (2520 : 37) ได้กล่าวถึงความหมายของ “นวัตกรรม” ไว้ว่า “แม้ในภาษาอังกฤษเอง ความหมายก็ต่างกันเป็น 2 ระดับ โดยทั่วไป นวัตกรรม หมายถึง ความพยายามใด ๆ จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อจะนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมแล้ว กับอีกระดับหนึ่งซึ่งวงการวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม ได้พยายามศึกษาถึงที่มา ลักษณะ กรรมวิธี และผลกระทบที่มีอยู่ต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง คำว่า นวัตกรรม มักจะหมายถึง สิ่งที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาใช้ได้ผลสำเร็จและแผ่กว้างออกไป จนกลายเป็นการปฏิบัติอย่างธรรมดาสามัญ

บุญเกื้อ ควรหาเวช , 2543 นวัตกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้เหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)
ระยะที่ 3 การนำเอาไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมขั้นสมบูรณ์i ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา “นวัตกรรมการศึกษา”

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่ถือว่าเป็นนวัตกรรม
1. เป็นความคิดและการกระทำใหม่ทั้งหมดหรือปรับปรุงดัดแปลงจากที่เคยมีมาก่อนแล้ว
2. ความคิดหรือการกระทำนั้นมีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยและช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
3. มีการนำวิธีระบบมาใช้อย่างชัดเจน โดยพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน คือ ข้อมูลที่ใส่เข้าไป กระบวนการ และผลลัพธ์
4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปัจจุบัน

ขั้นตอนของการเกิดนวัตกรรม
1. ขั้นการประดิษฐ์คิดค้น (Invention)
2. ขั้นการพัฒนาการ (Development) หรือขั้นการทดลอง (Pilot Project)
3. ขั้นการนำไปหรือปฏิบัติจริง (Innovation) นวัตกรรมเป็นคำที่ใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีเสมอ ดังแผนภูมิต่อไปนี้

..........จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความคิดหรือการกระทำใหม่ ๆ จะถูกนำมาใช้ก่อนจนกว่าจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน ความคิดหรือการกระทำใหม่ ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรมนั้นก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีขึ้นมาทันที
http://reg.ksu.ac.th/teacher/sudatip/Elearning_files/data1.html
http://pirun.ku.ac.th/~g4966059/concept.doc